“หนี้ของคู่สมรส คุณต้องชดใช้แทนหรือไม่ ?”
… การแต่งงานและจดทะเบียนสมรสนั้น ทำให้คุณและคู่ของคุณได้รับสิทธิทางกฎหมายต่าง ๆ มากกว่าคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียน ทั้งเรื่องเกี่ยวกับบุตร มรดก ทรัพย์สินต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่ามันยังส่งผลไม่ถึงภาระหนี้สินด้วย ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า หนี้ของคู่สมรส เราต้องเข้าไปร่วมรับผิดชอบชดใช้แทนหรือไม่? วันนี้เรามีคำตอบมาฝากคุณผู้อ่านทุกคนกันครับ
… ข้อดีของการจดทะเบียนสมรส
การเป็นคู่รักคู่แต่งงานที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายนั้น แน่นอนว่ามันมีข้อดีและอภิสิทธิ์อยู่มากมายหลายข้อไม่ว่าจะเป็น
1. ทำให้ชาวต่างชาติได้รับสัญชาติไทยหากต้องการถือสัญชาติไทยตามคู่คนไทยของตน
2. ทำให้คู่สมรสมีสิทธิ์จัดการสินสมรสร่วมกัน (ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส)
3. ทำให้มีสิทธิ์ได้รับเงินจากทางราชการหรือนายจ้างของคู่สมรส อย่างเช่น การรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน เป็นต้น
4. สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคู่สมรส หากพบว่าคู่สมรสนอกใจคบชู้ และที่สำคัญสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากชู้ของคู่สมรสได้อีกด้วย
5. ทำให้บุตรมีฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นสามี และรับมรดกจากผู้เป็นพ่อได้ (บุตรเป็นสิทธิ์ตามชอบธรรมของแม่อยู่แล้วตามกฎหมาย)
6. ทำให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้
7. ทำให้สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคู่กรณีของคู่สมรสแทนคู่สมรสได้ เช่น เรียกค่าเสียหายทดแทนจากผู้ที่ขับรถชนสามี เป็นต้น
8. ทำให้ได้รับมรดกในกรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต
… แต่ทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนมี 2 ด้านเสมอ มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย และในข้อ 8 นี้เองที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นดาบสองคม เพราะคำว่ามรดกนั้นไม่ได้นับแค่ทรัพย์สินเงินทองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังนับรวมไปถึง “หนี้สิน” ด้วย ซึ่งเรื่องหนี้สินนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้คนมากมายหนักอกหนักใจเหลือเกิน ลำพังหนี้สินเฉพาะของตัวคุณเองก็เรียกว่าหนักหนาพอแล้ว ยังมี หนี้ของคู่สมรส ที่ต้องร่วมรับผิดชอบตามกฎหมายอีก ถ้าคู่สมรสมีความรับผิดชอบ จัดการหนี้สินไม่ให้บกพร่องก็ดีไปเพราะมันคงไม่ส่งผลมาถึงคุณ แต่ถ้าหากเกิดแยกทางกันโดยที่ยังไม่ได้จะทะเบียนหย่าหรือคู่สมรสของคุณเสียชีวิตไป มรดกหนี้จะตามหลอกหลอนคุณแน่นอน
… สินสมรส
ก่อนที่จะไปพูดถึงหารชดใช้หนี้สิน มาดูคำจำกัดความของคำว่า “สินสมรส” กันก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส” เรียกง่าย ๆ ว่าหลังจากแต่งงานจดทะเบียนกันปุ๊บ ทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดที่ทั้งสองฝ่ายหามาได้หลังจากนั้นจะถือเป็นสินสมรส หากมีการหย่าร้างหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต สินสมรสจะถูกแบ่งครึ่งให้คู่สมรสทั้งสองฝ่ายเท่า ๆ กัน
… หนี้ของคู่สมรส แบบไหนที่คุณต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
ในที่นี้จะขอเรียกหนี้ของคู่สมรสที่คุณต้องร่วมกันรับผิดชอบ (แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้เป็นคนก่อ) สั้น ๆ ว่า “หนี้ร่วม” ซึ่งเกี่ยวกับหนี้ร่วมนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 บัญญัติเอาไว้ว่า …
… “หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้น ให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือน และจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งให้สัตยาบัน”
… ตัวอย่างของหนี้ร่วม มีดังต่อไปนี้
1. เงินที่กู้มาเพื่อซ่อมแซมบ้านของคู่สมรส หรือบ้านของบุพการีของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายที่ดูแลบุตรของคู่สมรส เป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการบ้าน ถือเป็นหนี้ร่วมตาม (1) ที่ระบุไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490
2. คู่สมรสกู้เงินโดยคู่สมรสอีกฝ่ายให้ความยินยอม เพื่อนำไปใช้เกี่ยวกับกิจการค้าขาย ถือเป็นหนี้ร่วมตาม (3)
3. เงินกู้เพื่อการศึกษาของบุตร ถือเป็นหนี้ร่วมตาม (1)
4. ค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ ของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายและบุตร ถือเป็นหนี้ร่วมตาม (1)
5. หนี้ค่าจ้างต่อเติมซ่อมแซมบ้านที่เป็นสินสมรส หนี้ที่กู้ยืมมาเพื่อไถ่ถอนบ้านหรือที่ดินที่เป็นสินสมรส ถือเป็นหนี้ร่วมตาม (2)
6. หนี้ที่คู่สมรสให้ความยินยอมในการทำนิติกรรม ถือเป็นการให้สัตยาบัน แม้ไม่ได้นำเงินก้อนดังกล่าวไปใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องภายในครอบครัวตามที่ระบุเอาไว้ใน (1) (2) และ (3) ถือเป็นหนี้ร่วมตาม (4)
… แต่ในส่วนของหนี้สินนี้ถือเป็นโชคดีของผู้ที่ไม่จดทะเบียนสมรส เพราะหนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภริยา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือว่าไม่ใช่หนี้ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
… หนี้แบบไหนที่ไม่ใช่หนี้ร่วมกับคู่สมรส
นอกจากหนี้สินที่ต้องร่วมรับผิดชอบโดยที่ไม่ได้ก่อแล้ว ก็ยังมีหนี้สินที่ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเหมือนกัน ตามกฎหมายคุณไม่จำเป็นจะต้องร่วมรับผิดชอบหนี้สินทุกอย่างของคู่สมรสนะคะ เพราะมันดูจะไม่เป็นธรรมมากเกินไป โดยมีหลายกรณีที่ไม่ใช่หนี้ร่วม ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1. ภาระหนี้ที่เกิดจากการค้ำประกันของคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้คัดค้านในการค้ำประกัน แต่ก็ถือว่าไม่เป็นหนี้ร่วม
2. คู่สมรสฝ่ายหนึ่งกู้เงินมาเพื่อการพนันขันต่อ ไม่ได้นำมาเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับครอบครัว ถือว่าไม่เป็นหนี้ร่วม
3. เงินกู้ที่คู่สมรสผ่ายใดผ่ายหนึ่งไปกู้เพื่อใช้จ่ายขณะแยกกันอยู่ โดยที่ไม่ได้แบ่งให้อีกฝ่ายหรือให้เป็นการเลี้ยงดูอีกฝ่าย ถือว่าไม่เป็นหนี้ร่วม
4. หนี้ที่เกิดจากการที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่ง ก่อขึ้นเพื่อมอบให้กับบุคคลที่สามที่ไม่ใช่คนในครอบครัวหรือชู้ ด้วยความพิศวาสสเน่หา ถือว่าไม่เป็นหนี้ร่วม
5. ภาระหนี้บัตรเครดิตส่วนตัวของคู่สมรส ที่ใช้จ่ายเพื่อเรื่องส่วนตัวของคู่สมรส ไม่ถือเป็นหนี้ร่วม
… หากคู่สมรสเสียชีวิต จะต้องชดใช้แทนผู้ตายหรือไม่?
กรณีนี้สามารถตอบได้ทั้งได้และไม่ได้ โดยหนี้ที่สามารถทวงกับคุณได้ก็คือหนี้ร่วมดังที่กล่าวไว้ข้างต้นทั้งหมด ส่วนที่นอกเหนือจากนั้นถือว่าไม่สามารถทวงเอาจากทรัพย์สินของคุณได้ แต่สามารถทวงเอากับสินสมรสส่วนที่เป็นของคู่สมรสที่เสียชีวิตได้ จะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เมื่อฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต สินสมรสจะถูกแบ่งเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน โดยครึ่งหนึ่งถือเป็นทรัพย์สินส่วนของคุณ อีกส่วนถือเป็นทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตและถือเป็นมรดกที่คุณจะได้รับตามกฎหมาย เจ้าหนี้สามารถทวงถามหนี้กับส่วนที่เป็นมรดกนี้ได้เท่านั้น ภายในระยะเวลา 1 ปีหลังจากคู่สมรสเสียชีวิต โดยการชำระหนี้นั้นหากภาระหนี้มีมากเกินกว่าจำนวนมรดก เจ้าหนี้มีสิทธิ์รับเอาเพียงส่วนที่เป็นมรดกเท่านั้น จะเรียกร้องเกินกว่านั้นไม่ได้ หากเกินจำนวนและเกินระยะเวลา 1 ปี ให้บอกเจ้าหนี้ไปทวงเอากับคนตายเองก็แล้วกัน
… ดังนั้นจะเห็นได้ว่า คู่สมรสแม้จะเปรียบประดุจเหมือนคนคนเดียวกันตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาร่วมรับผิดชอบหนี้สินทุกอย่างทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อ ซึ่งถือว่ากฎหมายนั้นยังให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
Cr. ข้อมูลจาก // moneyguru
สำหรับท่านที่ต้องการที่ปรึกษาทางกฎหมาย หาทนายความ ต้องการความช้วยเหลือด้านกฎหมายต่างๆ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมว่าเราจะช่วยเหลือท่านได้อย่างไรบ้าง กรุณาติดต่อเรา เรามีทีมทนายความมากประสบการณ์พร้อมให้คำปรึกษา และรับว่าความแก้ไขปัญหาให้กับทุกท่านได้อย่างแน่นอน